การงีบส่งผลต่อการนอนหลับอย่างไร?

มนุษย์เป็นหนึ่งใน 15% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีช่วงการนอนหลับเพียงช่วงเดียว (Monophasic sleep) หรือมีการหลับแบบยาวๆ ซึ่งในแต่ละวันของมนุษย์นั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ได้แก่ ช่วงเวลาตื่นและช่วงเวลานอน แต่ในปัจจุบัน คนมีความเครียดและการอดนอนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้ความต้องการงีบในระหว่างวันเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

แต่คำถามคือ เราควรที่จะงีบหลับหรือไม่? การงีบหลับจะไม่ส่งผลเสียต่อการนอนหลับในอีกวันหรือเปล่า? คำตอบคือ มันแล้วแต่สถานการณ์ และขึ้นกับหลายปัจจัย

การงีบหลับที่ให้ผลดีนั้นขึ้นกับปัจจัยมากมาย รวมถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการงีบหลับ ซึ่งปัจจัยพื้นฐานได้แก่ อายุ สุขภาพ และประสบการณ์ในการงีบนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น เด็กเล็ก คนป่วย และคนแก่ มักจะต้องการการงีบหลับบ่อยและนานกว่าคนในวัยทำงานที่มีสุขภาพดี ซึ่งบทความนี้จะนำเสนอทั้งข้อดี และข้อเสียของการงีบหลับ รวมถึงระยะเวลางีบที่เหมาะสมสำหรับคนวัยทำงานที่มีสุขภาพดีทั่วไป

การงีบส่งผลต่อการนอนหลับอย่างไร?

ลักษณะของการงีบหลับ

การหลับของคุณ อาจจะเป็นหนึ่งในสามคุณลักษณะของการงีบหลับเหล่านี้ ซึ่งได้แก่

การงีบหลับที่มีการวางแผน หรือเตรียมการเอาไว้แล้ว ซึ่งการงีบหลับแบบนี้ จะทำให้คุณรู้สึกตื่นในเวลากลางคืนมากกว่าในคืนปกติ

การงีบหลับจนเป็นนิสัย ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อทำการงีบหลับในเวลาเดิม ของทุกๆวัน

การงีบหลับเพราะจำเป็น ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกง่วงเป็นอย่างมาก และไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมใดๆต่อไปได้ (ตัวอย่างเช่น การขับรถและทำการจอดรถระหว่างทางเพื่องีบหลับเป็นเวลา 5 นาที)

ข้อดีของการงีบหลับ

ตราบใดที่คุณงีบหลับอย่างถูกต้อง การงีบหลับนั้นจะส่งผลดีต่อคุณอย่างแน่นอน ซึ่งได้แก่ การผ่อนคลาย การคลายความเมื่อยล้า และเป็นการทำให้อารมณ์ดีขึ้น นอกจากนี้การงีบหลับก็ยังมีผลดีอื่นๆอีกด้วย

การงีบหลับทำให้คุณทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การงีบหลับสามารถฟื้นฟูการตื่นตัวของสมองและจิตใจ ปรับปรุงการทำงาน และช่วยลดโอกาสในการเกิดข้อผิดพลาดและอุบัติเหตุได้ จากการศึกษาขององค์การนาซา (NASA) ซึ่งทำการศึกษามนุษย์อวกาศและทหารอากาศพบว่า การงีบหลับเป็นเวลา 40 นาที จะช่วยปรับปรุงการทำงานได้มากขึ้นถึง 34% รวมทั้งทำให้เกิดการตื่นตัวได้ถึง 100%

การงีบหลับช่วยผ่อนคลายความเครียด

การงีบหลับที่ดี และต่อเนื่อง จะช่วยป้องกันอาการ ‘หมดไฟ’ หรือ ‘หมดแรง’ และยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย จากการศึกษาในรัฐแมสซาชูเซตส์พบว่า การงีบหลับสามารถช่วยให้สมองได้เกิดการฟื้นฟูจากการรับข้อมูลมากเกินไป

นอกจากนี้ การงีบหลับยังช่วยในการปรับปรุงความสามารถในการจดจำข้อมูล เนื่องจากการงีบหลับจะทำการส่งข้อมูลที่พึ่งได้รับจากการเรียนรู้ จากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้ลืมได้อย่างง่ายดาย ไปยังสมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ (Neocortext) ที่ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลไว้ได้อย่างถาวร อีกทั้งยังช่วยในการฟื้นฟูจากอาการเจ็บป่วยทางสภาพจิตใจอีกด้วย

การงีบหลับดีต่อหัวใจของคุณ

นักวิจัยได้ทำการศึกษาชาวกรีกประมาณ 24,000 คนเป็นระยะเวลา 6 ปี พบว่า ผู้ที่ทำการงีบหลับเป็นระยะเวลา 30 นาที จำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจลดลง 37%

การงีบหลับอย่างถูกต้อง

การงีบหลับโดยไม่จำเป็น หรือไม่ได้ทำการวางแผนมาก่อน จะส่งผลทำให้เกิดผลเสียข้างเคียงตามมา เช่น ปัญหาการนอนหลับในเวลากลางคืน นอกจากนี้ การงีบหลับในช่วงเวลากลางวัน จะส่งผลทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับ หรือทำให้คุณภาพของการนอนหลับในเวลากลางคืนลดลงอีกด้วย

อาการงัวเงีย (Sleep inertia) เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกงัวเงีย หรืองุนงงหลังจากพึ่งตื่นจากการงีบหลับ แต่อย่างไรก็ตาม มีวิธีการที่ทำให้คุณได้รับผลดีจากการงีบหลับได้โดย

1. ตั้งเวลา

ระยะเวลาในการงีบหลับที่ดีที่สุดจะอยู่ระหว่าง 10 – 30 นาที จากการศึกษาซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารงานวิจัยที่มีชื่อว่า “Sleep” เมื่อไม่นานมานี้ รายงานว่า การงีบหลับเป็นเวลา 10 นาที จะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยลดความเมื่อยล้า และปรับปรุงความสามารถในการเรียนรู้ แต่การงีบหลับมากกว่า 30 นาที จะส่งผลทำให้เกิดอาการงัวเงียตามมานั่นเอง

2. งีบหลับในช่วงบ่าย

ช่วงเวลาในการงีบหลับที่ดีที่สุดคือ ระหว่างเวลา บ่าย 2 โมง ถึงบ่าย 3 โมง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาครึ่งหนึ่งของวัน และเป็นช่วงเวลาที่คนวัยทำงานส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับอาการง่วงหลังจากการรับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการตื่นตัวในช่วงบ่ายนั่นเอง ดังนั้น การงีบหลับในช่วงเวลานี้ จะเป็นผลดี เนื่องจากมันจะมีโอกาสไปรบกวนการนอนหลับในเวลากลางคืนเพียงเล็กน้อยนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาในการงีบหลับก็ยังขึ้นกับช่วงเวลาทำงาน และปัจจัยส่วนบุคคลอีกด้วย ดังนั้นการงีบหลับในช่วงเวลาอื่น ก็สามารถก่อให้เกิดผลดีได้เช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ พยายามวางแผนงีบหลับในช่วงเวลาครึ่งหนึ่งของระยะเวลาที่คุณตื่นอยู่

3. สร้างสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องเหมาะสม

เมื่อคุณต้องการการงีบหลับเพื่อการฟื้นฟูร่างกายของคุณ คุณจะต้องจริงจังกับการงีบหลับนั้นด้วย ซึ่งนั่นหมายถึง คุณจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนในห้อง ปรับอุณหภูมิในห้องให้ลดลง และปิดม่าน เพื่อให้ห้องนั้นมืดและสบายที่สุด นอกจากนี้ ยังหมายถึงการทำให้เกิดความเงียบ และบรรยากาศที่เหมาะแก่การพักผ่อน รวมถึงการจัดการกับเสียงกรนที่จะรบกวนบรรยากาศในการงีบหลับด้วยเช่นกัน

การกรนส่งผลกระทบต่อการงีบหลับอย่างไร?

เหตุผลสำคัญที่ว่า ทำไมคนวัยทำงานจึงรู้สึกอยากจะงีบหลับ นั่นก็เพราะว่า การนอนหลับในเวลากลางคืนของพวกเขาถูกรบกวนนั่นเอง และบ่อยครั้งถูกรบกวนโดยเสียงกรนของตัวเองหรือคู่นอนของพวกเขา และพวกเขาโชคไม่ดีตรงที่ว่า เมื่อพวกเขากรนในเวลากลางคืน ก็จะไปรบกวนเวลาในการงีบหลับอีกด้วย เพราะว่าเมื่อพวกเขาเริ่มกรน พวกเขาก็จะปลุกตัวเองให้ตื่น ก่อนที่จะได้ทำการพักผ่อนจากการงีบหลับนั่นเอง

References:

http://news.bbc.co.uk/2/hi/health/6354855.stm
https://sleepfoundation.org/sleep-topics/napping/page/0/1
http://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/adult-health/in-depth/napping/art-20048319?pg=2
https://sleepfoundation.org/sleep-topics/napping/page/0/3
http://www.sciencemag.org/news/2002/05/power-napping
http://journalsleep.org/Articles/290616.pdf