ความสำคัญของการนอน
การนอน คือ สภาวะที่ร่างกายตัดการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของคน เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตที่ขาดไม่ได้ตั้งเกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสุขภาพและการนอนเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายใช้เวลาในการฟื้นฟู เยียวยาเซลล์และอวัยวะสำคัญในร่างกายให้กับมามีความพร้อมในการดำรงชีวิตในวันต่อไปและทุกๆวัน ดังนั้น คนที่มีปัญหาเรื่องการนอน จะส่งผลให้สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง อ่อนล้า ภูมิคุ้มกันลดลง และมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ความสามารถด้านสติปัญญา ลดลง ความคิดและการตอบสนองที่ช้าลง ความจำลดลง หงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ จนเกิดปัญหากับการเข้าสังคมและการทำงาน คนที่อดนอนอย่างต่อเนื่อง หรือคนที่ไม่นอนเลยติดต่อกันเป็นเวลาร่างกายจะไม่สามารถปรับสภาพรองรับกับภาระหนักของการดำรงชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง จากนั้นระบบสมดุลต่างๆ ในร่างกายจะเริ่มแปรปรวน และผิดปกติจนเสียชีวิตได้ในที่สุด
เราใช้เวลานานเท่าไหร่ในการนอน
เชื่อหรือไม่ว่า คนเราใช้เวลานอนถึง 1 ใน 3 ของชีวิต เพราะถ้าเราใช้เวลานอนหลับวันละ 6- 8 ชั่วโมงต่อระยะเวลาใน 1 วัน เราจะพบว่าใน 1 ปี มีจำนวนวันทั้งหมด 365 วัน คิดเป็นเวลาทั้งหมด 8,760 ชั่วโมงเราจะใช้เวลานอนเฉลี่ยอยู่ที่ 2,190 -2,920 ชั่วโมง ซึ่งมากถึง 25-33 % ในระยะเวลา 1 ปี หรือ คิดเป็น 92- 122 วันโดยประมาณ ระยะเวลาในการนอนดังกล่าวแตกต่างมากน้อยในแต่ละวัย ซึ่งเด็กแรกเกิดหรือเด็กเล็กจะใช้เวลาในการนอนมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 2 เท่าเพราะในช่วงที่นอนหลับร่างกายจะมีการหลั่งสารและฮอร์โมนสำคัญมากมาย เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) เป็นฮอร์โมนสำคัญในการกระตุ้นให้ร่างกายเจริญเติบโตในวัยเด็ก และเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้อ่อนเยาว์ในวัยผู้ใหญ่ รวมทั้งช่วยปรับสมดุลของระบบเผาผลาญอาหารของร่างกาย และช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ดังนั้น หากขาดฮอร์โมนชนิดนี้ผิวหนังก็จะหย่อนคล้อยและเหี่ยวย่นได้ เป็นต้น
การนอนสำคัญต่อสมองและอวัยวะสำคัญในร่างกาย
การนอนยังมีความสำคัญต่อเซลล์และอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย โดยเฉพาะสมอง ซึ่งในช่วงที่เราหลับเซลล์สมองจะมีการฟื้นฟูและปรับปรุงระบบการทำงานของสมองรวมทั้งสารสื่อประสาทต่างที่ถูกหลั่งออกมาในระดับที่แตกต่างกันในช่วงที่เราตื่น ซึ่งเกิดจากการถูกกระตุ้น เช่น ในขณะตื่น สมองจะมีการทำงานตลอดเวลา มีการใช้พลังงานและรับข้อมูลจากสิ่งเร้าสะสมเรื่อยๆในรอบวัน แต่เมื่อหลับสมองจะทำการฟื้นฟูระบบการทำงาน และจัดการข้อมูลระหว่างวันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะสมองส่วนความคิดและความจำ ยกตัวอย่างความจำ เป็นหนังสือ ช่วงเวลาที่เรานอน สมองจะทำหน้าที่เหมือนจัดวางหนังสือเข้าชั้นให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ง่ายต่อการค้นหา ดังนั้น คนที่อดนอนหรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงมักจะมีปัญหาด้านความคิด ความจำ และสมาธิรวมไปถึงสติปัญญา ส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ และหากอดนอนมากๆ จะมีอันตรายถึงแก่ชีวิต เพราะจะทำให้เกิดอาการงีบหลับสั้นๆ หรือที่เรียกว่า “หลับกลางอากาศ” หรือ “หลับใน” เกิดจากการที่สมองส่วนธาลามัส (Thalamus) ของคนที่นอนไม่พอ จะหยุดทำงานช่วงสั้นๆ แบบชั่วคราว อาจเป็นวินาทีหรือนานถึงครึ่งนาที ทำให้เกิดอาการงีบหลับ ไม่ตื่นตัว ไม่ตอบสนองต่อการรับรู้ใดๆ หรือรับรู้ได้ช้า บางคนเรียกภาวะนี้ว่า “หลับใน” ซึ่งเป็นอันตรายมากถ้าเกิดขึ้นระหว่างที่กำลังขับรถหรือระหว่างการทำงานที่ต้องใช้ความเร็วหรือความแม่นยำ นั่นเอง
ผลเสียของการอดนอน
การอดนอน ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจมากมายมากมาย คนที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ การนอนไม่มีคุณภาพ มักจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพแตกต่างจากคนที่นอนหลับเพียงพอ หรือ การนอนมีคุณภาพมากกว่า เช่น ระยะเวลาในการนอนเท่ากัน แต่ การหลับสนิทโดยที่ไม่มีอาการหลับๆ ตื่น หรือ ไม่มีอาการที่เรียกว่า “ความฝัน” มารบกวน จะช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูสุขภาพและมีการทำงานทำงานของอวัยวะสำคัญในช่วงหลับ รวมทั้งการหลั่งฮอร์โมนที่จำเป็นในช่วงของการหลับได้ดีมากกว่า ดังนั้นผลเสียของการอดนอนมีดังนี้
1. ทำให้สมองทำงานหนักและทำให้กระบวนการเรียนรู้ช้าลง เพราะการอดนอนจะมีผลต่อการทำงานของสมองในส่วนต่างๆ ให้ทำงานผิดไป เช่นที่สมองส่วนหน้าสุด (prefrontal cortex) จะทำให้การเรียนรู้จากคำพูด (verbal learning tasks) แย่ลง ส่วนกลีบสมองบริเวณขมับ (Temporal lobe) จะทำให้การเรียนรู้ด้านภาษา (language processing) ช้าลง
2. ระบบจัดเก็บความทรงจำหรือระบบประสาทจะมีประสิทธิภาพลดลง โดยอวัยวะที่สำคัญคือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) จะทำหน้าที่ถ่ายโอนข้อมูลที่เรียนรู้ในระหว่างวันเข้าสู่ความทรงจำระยะยาวซึ่งอวัยวะชิ้นนี้จะทำงานตอนที่เรานอนหลับเท่านั้นและจะทำงานได้ดีหากร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
3. ทำให้มีปัญหาสุขภาพจิต เพราะ การอดนอนชนิดรุนแรงสามารถทำให้เกิดภาวะโรคทางจิต (psychosis) ได้ เช่น อาการหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด ระแวงกลัวคนมาทำร้าย หรือมีอาการคล้ายคนที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนหรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) เช่นมีอารมณ์ร่าเริงสนุกสนานผิดปกติ หรือมีอารมณ์เศร้าผิดปกติได้ นอกจากนั้นยังทำให้เกิดอาการหงุดหงิดง่าย หรืออารมณ์เสียง่ายมากน้อยตามแต่ความรุนแรงของการอดนอนนั้น
4. ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง โดยการอดนอนจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานหนักขึ้น ซึ่งเลือดจะมีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นและเม็ดเลือดขาวเหล่านี้จะสลายตัวในเวลาต่อมาจึงทำให้ความสามารถของร่างกายในการต้านทานต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสเสียไป รวมถึงสารเมลาโทนินถูกสร้างน้อยลง ซึ่งสารเมลาโทนินนี้เป็นสารที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องเซลล์ผิวหนังจากสารอนุมูลอิสระต่างๆ และสารเมลาโทนินจะถูกสร้างมากที่สุดในเวลากลางคืนขณะที่เรานอนหลับ ถ้าเราอดนอนหรือนอนน้อยก็จะทำให้มีการสร้างสารนี้ลดลง ส่งผลให้เกิดการอักเสบหรือภูมิแพ้ของผิวหนังได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
5. ทำให้มีปัญหาสุขภาพ เพราะกลไกตามธรรมชาติจะเสียสมดุล เช่น ระบบการย่อยอาหารผิดปกติมีการหลั่งกรดมากขึ้น ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองตีบ ความดันโลหิตสูงขึ้น ระบบฮอร์โมนหลั่งผิดปกติเช่น การผลิตสารเลปติน (Leptin) น้อยลงซึ่งเลปตินมีบทบาทในการควบคุมความอยากอาหาร เพราะฉะนั้นยิ่งเราอดนอน เลปตินก็จะถูกผลิตออกมาน้อยลงทำให้เรามีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น เช่นอยากทานขนมหวาน และอาหารมันๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการควบคุมและลดน้ำหนักได้
ทราบความสำคัญของการนอนกันแล้ว อย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และสร้างเสริมสุขนิสัยในการนอนอย่างมีคุณภาพ ให้ความสำคัญกับการนอนเพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกาย หลังจากที่ใช้งานร่างกายมาอย่างหนักในการทำงานทั้งวัน รวมทั้งเป็นการฟื้นฟูและดูแลจิตใจของเราด้วยการนอนที่มีคุณภาพเพียงพอ โดยเฉพาะในวัยทำงาน ควรนอนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้การตื่นมาในตอนเช้าวันใหม่มีความพร้อมและมีความสุขในการเริ่มต้นในการใช้ชีวิตในแต่ละวันคะ