ระบบปรับอากาศอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของการนอนได้

จากการศึกษาโดยทีมวิจัยร่วมพบว่า กระแสลมจากเครื่องปรับอากาศ จะกระตุ้นร่างกายของมนุษย์ในขณะที่กำลังนอนหลับรวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อสภาวะในการนอนหลับอีกด้วย แม้ว่าความเร็วเฉลี่ยของกระแสลมที่ไหลออกมานั้นจะมีค่าต่ำกว่าในระดับที่มนุษย์จะรู้สึกได้ก็ตาม มีรายงานว่าเครื่องปรับอากาศบางชนิด อาจจะส่งผลเสียโดยโดยไม่ได้ตั้งใจต่อคุณภาพในการนอนหลับ แม้ว่าเครื่องปรับอากาศเหล่านั้นจะให้ความรู้สึกสะดวกสบายต่อผู้ใช้งานก็ตาม ซึ่งทีมวิจัยนี้ยังประกอบไปด้วยศาสตราจารย์ Kazuyo Tsuzuki แห่งมหาวิทยาลัย Toyohashi University of Technology ภาควิชาสถาปัตยวิศวกรรมและวิศวกรรมโยธา (Architecture and Civil Engineering) ของสถาบัน National Institute of Advanced Industrial Science and Technology และ Asahi Kasei Homes.

สภาวะเมืองร้อน (Urban warming) จะสกัดกั้นอุณหภูมิไม่ให้ลดต่ำลงในเวลากลางคืน ซึ่งจะส่งผลให้ช่วงเวลากลางคืนนั้นร้อนมากและส่งผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพในการนอนหลับ อย่างไรก็ตาม เราสามารถนอนหลับอย่างมีคุณภาพดีได้หากทำการควบคุมอุณหภูมิห้องถูกด้วยเครื่องปรับอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ

ความเร็วลมในสิ่งแวดล้อมขณะนอนหลับนั้นสามารถถูกปรับค่าได้จากการใช้เครื่องปรับอากาศ แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการวัดค่าความเร็วของลม หรืองานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของลมจากเครื่องปรับอากาศ

ทีมวิจัยซึ่งมีศาสตราจารย์ Tsuzuki เป็นสมาชิกของทีม ได้ทำการทดลองโดยให้ผู้เข้าร่วมทดลองนอนหลับในห้องนอน 2 ห้อง ซึ่งมีอุณหภูมิเท่ากันแต่ใช้เครื่องปรับอากาศปรับค่าความเร็วของกระแสลมให้มีค่าแตกต่างกัน จากนั้นทำการเปรียบเทียบช่วงของการหลับและการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายโดยใช้การตรวจคลื่นสมองไฟฟ้า (Electroencephalogram: EEG) รวมถึงให้ผู้เข้าร่วมการทดลองรายงานผลอีกด้วย

ทีมวิจัยได้ใช้ความเร็วลมที่ 0.2 เมตรต่อวินาที หรือใช้ความเร็วลมต่ำกว่าระดับที่ไม่สามารถรู้สึกได้ (Insensible airflow) เป็นจุดอ้างอิง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว คนเราจะไม่สามารถรู้สึกถึงความเร็วลมในระดับต่ำๆนั่นเอง ในการศึกษานี้ ทีมวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างผลกระทบของกระแสลมเฉลี่ยระหว่าง 0.14 เมตรต่อวินาที (เครื่องปรับอากาศทั่วไป) และ 0.04 เมตรต่อวินาที (เครื่องปรับอากาศที่ได้รับการปรับตั้งค่า) ณ ระดับอุณหภูมิห้อง 26 องศาเซลเซียสเท่ากัน จากการทดลองพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองรู้สึกเย็นกว่าเมื่อมีความเร็วลมสูงขึ้นทั้งในขณะที่ตื่นอยู่และกำลังนอนหลับ อย่างไรก็ตาม การทดลองไม่ได้รายงานถึงความแตกต่างของความรู้สึกสะดวกสบาย ช่วงเวลาของการหลับลึก อุณหภูมิผิวหนัง การวัดอุณหภูมิผ่านทางทวารหนัก หรือความรู้สึกอุ่นหรือหนาวในขณะก่อนจะนอนหลับ สำหรับเครื่องปรับอากาศปกติจะทำการลดกระแสลมลงเมื่ออุณหภูมิห้องมีค่าเท่ากับอุณหภูมิที่ได้ตั้งค่าไว้ และจะเพิ่มกระแสลมอีกครั้งเมื่ออุณหภูมิห้องเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การศึกษานี้ยังได้ทำการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่กระแสลมเริ่มทำงานกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ และสถานะของการตื่นในระยะของการหลับอีกด้วย โดยพบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองมีการขยับมากขึ้น มีอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความถี่ของการตื่นมากขึ้นเมื่ออยู่ในห้องที่มีการปรับความเร็วลมให้เป็น 0.14 เมตรต่อวินาที ซึ่งนั่นหมายความว่า เครื่องปรับอากาศแบบทั่วไปนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อการนอนหลับได้ จากการที่เราได้ค้นพบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองนั้นมีการขยับตัวหรือมีระยะของการนอนหลับเปลี่ยนไปเมื่อสัมผัสถึงกระแสลมเย็นนั่นเอง

งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นผู้ชายวัยทำงานและมีสุขภาพดี ซึ่งการศึกษานี้ได้บอกเป็นนัยว่า กระแสลมเย็นนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อการนอนหลับมากขึ้น ต่อผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นผู้หญิงและผู้สูงอายุ ซึ่งมีความแข็งแรงทางกายภาพต่ำกว่าและมีประสาทสัมผัสต่อความเย็นสูงกว่า นอกจากนี้ ผลลัพธ์จากการศึกษานี้ยังเป็นประโยชน์เนื่องจากนำไปสู่การศึกษาว่า ควรจะต้องปรับค่าความเร็วลมของเครื่องปรับอากาศอย่างไร เพื่อสร้างสภาวะในการนอนหลับที่ทำให้ได้รับความสะดวกสบายมากที่สุดนั่นเอง

ผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้ถูกนำเสนออนไลน์ในวารสาร Energy and Buildings เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2016